วันอังคารที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2556

การเพาะ”เห็ดฟาง”จากปุ๋ยเปลือกไม้ยูคา

การเพาะ”เห็ดฟาง”จากปุ๋ยเปลือกไม้ยูคา

การผลิตเห็ดฟางใน โรงเรือน มีการใช้วัตถุดิบกันได้หลายอย่างแล้วแต่สถานที่เพาะเห็ดตั้งอยู่ ที่ใด หาวัตถุดิบใดได้ง่าย ราคาถูก เช่น กากปาล์ม ทะลายปาล์ม เปลือกมัน สำปะหลัง เปลือกฝักถั่วเขียว ถุงเห็ดเก่า ฯลฯ เป็นต้น ปัจจุบันมีการนำ เปลือกลำต้นไม้ยูคาลิปตัสมาย่อยสลายแล้วหมักจนเป็นปุ๋ย ไปใช้บำรุงดินปลูก พืชและเพิ่มผลผลิตพืช คุณธนภพ ไตรเวช 100/58 ต.บางไทร อ.บางไทร จ.พระนครศรี อยุธยา (โทร. 0-1499-1867) ได้นำปุ๋ยเปลือกไม้ยูคาไปร่วมการเพาะเห็ดฟางใน โรงเรือน ผลคือได้ผลผลิตและกำไรดีขึ้น ควรเผยแพร่ได้
การเตรียมโรงเรือนเพาะเห็ดฟาง:
โรงเรือนเพาะเห็ดฟางมีขนาด 4 เมตร x 6 เมตร แบ่งเป็นด้านละ 4 ชั้น รวมทั้งหลัง 8 ชั้น แต่ละชั้นกว้าง 1 เมตร ยาว 5 เมตร วัสดุเพาะเห็ดแต่ละรอบประกอบด้วยเปลือกมันสำปะหลัง 1.2-1.5 ต้น ปุ๋ยหมักเปลือกไม้ยูคา 50 กก. รำละเอียด 30 กก. ปูนขาว 4 กก. ยิปซั่ม 4 กก. โดโลไมท์ 4 กก. กากน้ำตาลครึ่งลิตร ฟางข้าว 7 ฟ่อน และเชื้อเห็ดฟาง 230 ถุง
ขั้นตอนการเพาะเห็ดฟางด้วยปุ๋ยเปลือกไม้ยูคา:
ให้นำวัสดุเพาะต่างๆ(ยกเว้นฟางข้าวและเชื้อเห็ด) มารวมกันและคลุกเคล้าให้เข้ากัน รดน้ำให้ชื้น 60%การเติมกากน้ำตาลทำเป็นขั้นตอนสุดท้าย จากนั้นใช้ผ้าพลาสติกใสคลุมกอง หมักทิ้งไว้ 3 คืน นำฟางข้าวปูรองพื้นแต่ละชั้นในโรงเพาะ แล้วเอาวัสดุเพาะที่หมักมาแล้วขึ้นทับบนฟางเกลี่ยให้เสมอกันโดยเว้นขอบฟาง ด้านละ 2 นิ้ว จากนั้นอบไอน้ำที่อุณหภูมิ 60 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 3 ชั่วโมง 45 นาที ปิดไฟ หยุดไอน้ำปล่อยทิ้งไว้ 1 คืน เอาเชื้อเห็ดฟางมาขยี้ในกะละมังเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย นำไปโรยบนวัสดุเพาะ เสร็จแล้วปิดป้อง ปล่อยให้เส้นใยฟูขึ้น เจริญลามแผ่ไปทั่วผิวหน้ากอง 3 วัน จึงรดน้ำตัดใย
เทคนิคกระตุ้นดอกเห็ด:
ปกติเมื่อใส่เชื้อเห็ดฟางในโรงเรือนเพาะได้ 3 วัน เส้นใยเห็ดจะเจริญแผ่ไปทั่ววัสดุเพาะและฟาง เส้นใยจะฟูอยู่และไม่ค่อยรวมตัวกันเป็นดอกเห็ด นอกจากเส้นใยยุบตัวลงรวมกันเพื่อสร้างตุ่มเห็ด คุณธนภพ ไตรเวช ใช้วิธีฉีดพ่นน้ำให้แรงพอประมาณไปที่วัสดุเพาะ จากนั้นอีกประมาณ 3-5 คืนต่อมาจะเริ่มมีตุ่มเล็ก ๆ คล้ายเม็ดผงซักฟอกเกิดขึ้นบนวัสดุเพาะกระจายทั่วไป ระยะนี้จะให้น้ำโดยรดน้ำที่พื้นโรงเรือนให้ไอน้ำระเหยจากพื้นดินรักษาความ ชื้นในเรือนเพาะเห็ด อีก 2-3 คืนต่อมาดอกเห็ดเริ่มโตเท่าเมล็ดถั่วเหลือง การรักษาความชื้นให้ฉีดน้ำข้างฝาโรงเรือน ครั้นดอกเห็ดโตและเก็บขายได้ประมาณ 70 กิโลกรัม ความชื้นที่ชั้นวัสดุลดลง สามารถรดน้ำที่ชั้นวัสดุและเก็บเห็ดต่อไปได้อีก
ผลผลิตที่ได้:
จากการเพาะเห็ดโดยวัสดุเพาะมาแล้วหลายสูตร พบว่าสูตรปุ๋ยเปลือกไม้ยูคานี้จะเก็บเห็ดได้ 110-130 กิโลกรัม ต่อโรงเรือน การเพาะเห็ดสูตรเก่าที่เคยทำจะได้เห็ดเพียง 80-90 กก. ในขณะที่อาหารจากปุ๋ยเปลือกยูคาทำให้ขนาดของดอกเห็ดใหญ่ขึ้น ระยะเวลาเก็บเกี่ยวนานขึ้น ส่งผลให้ผลผลิตรวมสูงขึ้น
วิธีนี้ยังไม่มีผู้เผยแพร่ข้อมูลมาก่อน ถ้าผู้ใดสนใจสามารถติดต่อที่นายธนภพ ไตรเวช 100/58 ต. บางไทร อ. บางไทร จ. อยุธยา โทร. 08-1449-1867
ผลพลอยได้จากการเพาะเห็ดฟางด้วยวิธีนี้:

หลังการเพาะเห็ดแล้ว ส่วนกากที่เหลือก็คือปุ๋ยอินทรีย์หรือปุ๋ยหมักสามารถนำไปหมักผสมขี้เลื่อย เพื่อเพาะเห็ดยานากิ (เห็ดโคนญี่ปุ่น) เห็ดนางรม เห็ดนางฟ้าหรือใช้ในฐานะปุ๋ยอินทรีย์ บำรุงดิน ปลูกผัก พืชไร่ ไม้ผล เครื่องเทศสมุนไพร ไม้ดอก ไม้ประดับ ฯลฯ หากหลังการเพาะเห็ดฟางแล้ว ทิ้งเศษเหลือคาเรือนเพาะนานเกินไปจะเกิดตัวไรเห็ด ดังนั้นควรเคลื่อนย้ายวัสดุเก่าออกและนำไปใช้ประโยชน์โดยเร็ว โรงเรือนก็ใช้เพาะเห็ดรอบใหม่

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น