วันจันทร์ที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2556

เห็ดฟาง

เห็ดฟาง คนไทยรู้จักบริโภคอาหารจากเห็ดฟางมานานแล้ว เพราะมีรสดีมีคุณค่าทางอาหารสูงกว่าพืชผักหลายชนิด และไม่มีการใช้สารฆ่าแมลง การเพาะก็ทำได้ง่าย วัสดุต่าง ๆ ที่ใช้เพาะก็หาได้ง่าย ส่วนใหญ่เป็นวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร และการเพาะเห็ดฟางก็สามารถ ทำได้ตลอดทั้งปี จึงเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง รวมทั้งการคิดค้นดัดแปลงวัสดุเพาะ วิธีเพาะ และอาหารเสริมเพื่อเพิ่มผลผลิตได้มาก
เมื่อเกี่ยวข้าวและนวดข้าวเสร็จแล้ว พื้นที่ปลูก 1 ไร่ ถ้าได้ข้าวเปลือก 100 ถัง จะมีฟางเหลือประมาณ 3,000 กก. การเพาะเห็ดฟาง โดยทั่วไปถ้าใช้ฟางแห้ง 10 กก. จะผลิตเห็ดฟางสดได้ 1 กก. ดังนั้น ฟาง 3,000 กก. จะได้เห็ดสด 300 กก. ซึ่งขายได้ กก.ละ 20-30 บาท จะได้เงินอีก 6,000-9,000 บาท
ลักษณะของการเพาะเห็ดฟางในปัจจุบัน มีอยู่หลายวิธี คือ การเพาะเห็ดฟางแบบกองสูง, การเพาะเห็ดฟางแบบกองเตี้ย, การเพาะเห็ดฟางจากเปลือกฝักถั่ว, การเพาะเห็ดฟางแบบ โรงเรือน หรืออุตสาหกรรม เป็นต้น
การเพาะเห็ดฟางแบบกองสูงนั้น ในปัจจุบันไม่เป็นที่นิยมทำกันนักเพราะใช้เวลาการเพาะนาน อีกทั้งต้องเสียเวลา ในการดูแลรักษานานอีกด้วย
ส่วนวิธีการเพาะเห็ดฟางแบบกองเตี้ยนั้น กำลังเป็นที่นิยมมากเพราะมีวิธีการทำที่ง่าย ทั้งวัสดุที่ใช้เพาะก็หาได้ง่าย และผลผลิตที่ได้อยู่ในเกณฑ์ที่น่าพอใจ ในที่นี้จะกล่าวรายละเอียดเฉพาะการเพาะแบบกองเตี้ยเท่านั้น
สิ่งจำเป็นในการเพาะเห็ดฟาง
วัตถุดิบที่ใช้ในการเพาะ ใช้ฟางตากแห้งสนิทซึ่งเก็บไว้โดยไม่เปียกชื้นหรือขึ้นรามาก่อน ใช้ได้ทั้งฟางข้าวเหนียว ฟางข้าวจ้าว ฟางข้าว ที่นวดเอาเมล็ดออกแล้ว และส่วนของตอซังเกี่ยวหรือถอนก็ใช้ได้ดีถ้าเปรียบเทียบวัสดุที่ใช้ในการ เพาะต่าง ๆ แล้ว ตอซังจะ ดีกว่าปลายฟางข้าวนวดและวัสดุอื่น ๆ มาก เนื่องจากตอซังมีอาหารมากกว่าและอุ้มน้ำได้ดี กว่าปลายฟาง
อาหารเสริม การใส่อาหารเสริมเป็นส่วนช่วยให้เส้นใยของเห็ดฟางเจริญได้ดี และทำให้ได้ดอกเห็ดมากกว่าที่ ไม่ได้ใส่ถึงประมาณ เท่าตัว อาหารเสริมที่นิยมใช้อยู่เป็นประจำได้แก่ ละอองข้าว ปุ๋ยมูลสัตว์หรือปุ๋ยคอกแห้ง ไส้นุ่น ไส้ฝ้าย ผักตบชวาตากแห้งแล้วสับ ให้เป็นชิ้นเล็ก ๆ จอกแห้ง และเศษพืชชิ้นเล็ก ๆ ที่นิ่มและอุ้มน้ำได้ดี เหล่านี้ก็มีส่วนใช้เป็น อาหารเสริมได้เช่นกัน
เชื้อเห็ดฟาง ที่จะใช้เพาะ การเลือกซื้อเชื้อเห็ดฟางเพื่อให้ได้เชื้อเห็ดที่มีคุณภาพดีและเหมาะสมกับราคามี หลักเกณฑ์การพิจารณา ประกอบดังนี้ คือ
- เมื่อจับดูที่ถุงเชื้อเห็ด ควรจะต้องมีลักษณะเป็นก้อนแน่นมีเส้นใยของเชื้อเห็ดเดินเต็มก้อนแล้ว
- ไม่มีเชื้อราชนิดอื่น ๆ หรือเป็นพวกแมลง หนอน หรือตัวไร เหล่านี้เจือปน และไม่ควรจะมีน้ำอยู่ก้นถุง ซึ่งแสดงว่าชื้นเกินไป ความงอกจะไม่ดี
- ไม่มีดอกเห็ดอยู่ในถุงเชื้อเห็ดนั้น เพราะนั่นหมายความว่าเชื้อเริ่มแก่เกินไปแล้ว
- ควรผลิตจากปุ๋ยหมักของเปลือกเมล็ดบัวผสมกับขี้ม้า หรือไส้นุ่นกับขี้ม้า
- เส้นใยไม่ฟูจัดหรือละเอียดเล็กเป็นฝอยจนผิดธรรมดาลักษณะของเส้นใยควรเป็นสีขาวนวล เจริญคลุมทั่วทั้งก้อนเชื้อเห็ดนั้น
- ต้องมีกลิ่นหอมของเห็ดฟางด้วย จึงจะเป็นก้อนเชื้อเห็ดฟางที่ดี
- เชื้อเห็ดฟางที่ซื้อต้องไม่ถูกแดด หรือรอการขายไว้นานจนเกินไป
- เชื้อเห็ดฟางที่ซื้อมานั้น ควรจะทำการเพาะภายใน 7 วัน
- อย่าหลงเชื่อคำโฆษณาใด ๆ ของผู้ขาย ควรสอบถามจากผู้ที่เคยทดลองเพาะมาก่อนจะดีกว่า นอกจากนี้ควร มีการตรวจสอบ เชื้อเห็ดฟางจากหลายยี่ห้อ เชื้อเห็ดฟางยี่ห้อใดให้ผลผลิตสูงก็ควรเลือกใช้ยี่ห้อนั้นมาเพาะจะดีกว่า
- ราคาของเชื้อเห็ดฟางไม่ควรจะแพงจนเกินไป ควรสืบราคาจากเชื้อเห็ดหลาย ๆ ยี่ห้อ เพื่อเปรียบเทียบดูด้วย
สถานที่เพาะเห็ด เนื่องจากการเพาะเห็ดฟางเป็นการเพาะบนดิน ดังนั้นเราต้องคำนึงถึงสภาพแวดล้อมแปลงเพาะนั้นด้วยเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะต้องเป็นบริเวณที่ไม่มียาฆ่าแมลงหรือยากันเชื้อรา น้ำไม่ท่วมขัง มีการระบายน้ำได้ดีและต้องเป็นที่ไม่เคยใช้เพาะเห็ดฟาง มาก่อน ถ้าเคยเพาะเห็ดฟางมาก่อนก็ควรจะทำความสะอาดที่บริเวณนั้น โดยการขุดผลึกดินตากแดดจัด ๆ ไว้สัก 1 อาทิตย์เพื่อฆ่า เชื้อโรค ต่าง ๆ บนดินที่จะเป็นพาหะของโรคและแมลงต่อเชื้อเห็ดที่เราจะเพาะในที่ดินนั้นได้ดีขึ้น
สรุปแล้วที่กองเพาะเห็ดควรเป็นสถานที่ที่โล่งแจ้ง และที่สำคัญอีกประการหนึ่งก็คือ สภาพดินบริเวณนั้นจะต้องไม่เค็มเพราะความเค็ม ของดินจะทำให้เส้นใยเห็ดไม่รวมตัวกันเป็นดอกเห็ดได้
ไม้แบบ
ไม้แบบ ไม้แบบที่ใช้ในการเพาะเห็ดฟางกองเตี้ย ทำจากไม้กระดานตอกเป็นกรอบแบบลังไม้รูปสี่เหลี่ยมคางหมูขนาดของไม้แบบ หรือ กรอบลังไม้นี้ไม่ควรใหญ่หรือเล็กจนเกินไป ขนาดของไม้แบบหรือกรอบลังไม้ที่ปกติใช้กันก็คือมีฐานกว้าง 35-40 เซนติเมตร ด้านบนกว้าง 25-30 เซนติเมตร สูง 35-40 เซนติเมตร ความยาวของแบบพิมพ์ กรอบไม้นี้ควรจะมีขนาด 1-1.5 เมตร
ผ้าพลาสติก เพื่อใช้ในการคลุมกองเห็ด ส่วนมากมักจะใช้ผ้าพลาสติกใส เพราะราคาถูกและประหยัดดี ซื้อครั้งเดียวก็ใช้ได้ หลายครั้ง
บัวรดน้ำ จะเป็นบัวพลาสติกหรือบัวสังกะสีก็ใช้ได้ทั้งนั้นขอให้ใช้ตักน้ำได้และรดน้ำแล้วได้น้ำเป็นฝอย ๆ ก็ใช้ได้แล้ว ปัจจุบันที่ทำ มาก ๆ จะใช้เครื่องสูบไดโว่หรือเครื่องสูบน้ำฉีดน้ำเป็นฝอยรดกองฟางให้เปียกชุ่มก่อนเริ่มการหมักได้ก็จะสะดวกดี
ปัจจัยที่สำคัญในการเพาะเห็ดฟาง
  1. สภาพอากาศที่เหมาะสมในการเพาะเห็ดฟาง เห็ดฟางชอบอากาศร้อน อุณหภูมิ 35-37 องศาเซลเซียส ขึ้นได้ดีทั้งในฤดูฝนและ ในฤดูร้อน เพราะอากาศร้อนจะช่วยเร่งการเจริญเติบโตของดอกเห็ดได้ดีอยู่แล้ว ส่วนในช่วงอากาศหนาวไม่ค่อยจะดีนัก เพราะอากาศ ที่เย็นเกินไปไม่เอื้ออำนวยต่อการเติบโตของดอกเห็ดฟาง สำหรับทางภาคใต้ก็สามารถจะเพาะเห็ดฟางได้ตลอดทั้งปี ถ้ามีฝนตกไม่มาก เกินไปนัก จึงเห็นได้ว่า การเพาะเห็ดฟางของประเทศไทยเราสามารถเพาะได้ตลอดปี แต่หน้าหนาวผลผลิตจะลดน้อยลงเนื่องจาก อุณหภูมิต่ำ จึงทำให้ราคาสูง หลังฤดูเกี่ยวข้าวอากาศร้อน ฟางและแรงงานมีมากมีคนเพาะมาก จึงเป็นธรรมดาที่เห็ดจะมีราคาต่ำลง ในฤดูฝนชาวนาส่วนมากทำนา การเพาะเห็ดน้อยลง ราคาเห็ดฟางนั้นก็จะดีขึ้น
  2. เรื่องความชื้น ความชื้นเป็นส่วนสำคัญในการเพาะเห็ดฟางมากเป็นตัวกำหนดการเจริญของเส้นใยเห็ดที่สำคัญถ้าความชื้นมีน้อย เกินไป เส้นใยของเห็ดจะเดินช้า และรวมตัวเป็นดอกไม่ได้ ถ้าความชื้นมากเกินไปการระบายอากาศภายในกองไม่ดี ถ้าเส้นใยขาด ออกซิเจน ก็จะทำให้เส้นใยฝ่อหรือเน่าตายไปน้ำที่จะแช่หรือทำให้ฟางชุ่มควรต้องเป็นน้ำสะอาด ไม่มีเกลือเจือปนหรือเค็ม หรือเป็น น้ำเน่าเสียที่หมักอยู่ในบ่อนาน ๆ จนมีกลิ่นเหม็น ก็ไม่ควรจะนำมาใช้ในการเพาะเห็ดฟางที่ดีนั้น น้ำที่ใช้ในการงอกเส้นใยเห็ดจะมาจาก ในฟางที่อุ้มเอาไว้และความชื้นจากพื้นแปลงเพาะนั้นก็เพียงพอแล้ว ปกติขณะที่เพาะไว้เป็นกองเรียบร้อยแล้วนั้นจึงไม่ควรจะมีการ ให้น้ำ อีก ควรจะรดเพียงครั้งเดียวคือระหว่างการหมักฟางเพาะทำกองเท่านั้น หรืออาจจะช่วยบ้างเฉพาะในกรณีที่ความชื้นมีน้อยหรือ แห้งจนเกินไป การให้ความชื้นนี้โดยการโปรยน้ำจากฝักบัวรอบบริเวณข้าง ๆ แปลงเพาะเท่านั้นก็พอ
  3. แสงแดด เห็ดฟางไม่ชอบแสงแดดโดยตรงนัก ถ้าถูกแสงแดดมากเกินไปเส้นใยเห็ดอาจจะตายได้ง่าย กองเห็ดฟางเพาะเห็ดหลัง จาก ทำกองเพาะเรียบร้อยแล้ว จึงควรจะทำการคลุมกองด้วยผ้าพลาสติกและใช้ฟางแห้ง หรือหญ้าคาปิดคลุมทับอีกเพื่อพรางแสงแดด ให้ด้วยดอกเห็ดฟางที่ไม่โดนแสงแดดจัดมีสีขาวนวลสวย ถ้าดอกเห็ดฟางโดนแดดแล้วจะเปลี่ยนจากสีขาวเป็นสีดำเร็วขึ้นกว่าปกติ/li>
วิธีการเพาะเห็ดฟางแบบกองเตี้ย
  1. เตรียมดินให้เรียบ พลิกหน้าดินตากแดดไว้ 3-4 วัน เพื่อฆ่าเชื้อโรค
  2. การเพาะเห็ดฟางแบบกองเตี้ยใช้ได้ทั้งตอซังและปลายฟางถ้าเป็นตอซังแช่น้ำพออ่อนตัวก็นำมาเพาะได้ ปกติประมาณ 1 ชั่วโมง แต่ถ้าเป็นปลายฟางแข็ง ๆ ควรแช่น้ำประมาณ 1-2 วัน หรือจุ่มน้ำแล้วนำมากองสุมกันไว้ ประมาณ 1 คืนให้อิ่มตัวนิ่มดีเสียก่อนจึงจะ ใช้ได้ดี ถ้าเป็นผักตบชวาหรือต้นกล้วยจะสับหรือไม่สับก็ได้ แต่ต้องแช่น้ำพอนิ่ม ปกติแช่น้ำประมาณ 1-2 ชั่วโมงแล้วนำมาใช้กอง ได้เลย
  3. หลังจากแช่น้ำวัสดุที่จะใช้เพาะได้ที่แล้ว ให้นำวัสดุที่ใช้เพาะนั้น ใส่ลงในกะบะไม้ที่วางเอาด้านกว้างซึ่งมีลักษณะป้านลงสัมผัสพื้น ให้ด้านแคบอยู่ข้างบนใส่ให้สูงประมาณ 4-6 นิ้ว ถ้าเป็นตอซังให้วางโคนตอซังหันออกด้านนอกส่วนปลายอยู่ด้านใน ใช้มือกดฟาง ให้แน่นพอสมควร แต่ถ้าเป็นปลายฟางควรขึ้นไปย่ำพร้อมทั้งรดน้ำให้ชุ่ม ข้อควรระวังอย่าให้แฉะหรือแห้งจนเกินไป
  4. นำอาหารเสริมที่ชุบน้ำแล้วโรยเป็นแถบกว้างประมาณ 2 นิ้ว รอบ ๆ ด้านทั้งสี่ด้านหนาประมาณ 1 นิ้ว
  5. แบ่งเชื้อเห็ดฟางจากถุงซึ่งปกติเชื้อเห็ดฟาง 1 ถุง หนักประมาณ 200 กรัม ออกเป็น 3-4 ส่วน เท่า ๆ กันจากนั้นโรยเชื้อเห็ดฟาง 1 ส่วน โดยโรยลงบนอาหารเสริมให้ทั่วและชิดกับขอบของแบบไม้ทั้งสี่ด้านก็เป็นการเสร็จชั้นที่ 1
  6. ทำชั้นที่ 2 และ 3 หรือ 4 ต่อไปก็ทำเช่นเดียวกับชั้นที่ 1 ทุกอย่าง เมื่อทำมาถึงขั้นสุดท้าย ให้โรยอาหารเสริมและเชื้อเห็ดให้เต็ม ทั่วหลังแปลง
  7. นำฟางที่แช่น้ำมาปิดทับให้หนา 1-2 นิ้ว แล้วเอาแบบไม้ออกโดยใช้มือข้างหนึ่งกดกองฟางไว้และทำกองอื่นต่อ ๆ ไป
  8. ทำกองอื่น ๆ ต่อไปให้ขนานกบกองแรก โดยเว้นระยะห่างประมาณ 6-12 นิ้ว
  9. ช่องว่างระหว่างกองแต่ละกองสามารถใช้ให้เกิดประโยชน์ในการเพิ่มผลผลิตได้อีก โดยอาจจะโรยเชื้อเห็ดฟางลงไปบนช่องว่าง ระหว่าง กอง เพราะบริเวณนี้ก็สามารถทำให้เกิดดอกเห็ดได้ จากนั้น รดน้ำดินรอบ ๆ กองให้เปียกชื้น
  10. คลุมกองฟางด้วยผ้าพลาสติก โดยใช้ 2 ผืนเกยทับกันตรงกลางคลุมให้สูงกว่ากองฟางเล็กน้อยโดยคลุมเป็นแถว ๆ ถ้าอากาศร้อน ให้คลุมห่าง อากาศเย็นให้คลุมชิดหรืออาจคลุมติดกองเลย ในกรณี อากาศเย็นจัด การคลุมพลาสติกเป็นเรื่องสำคัญที่แต่ละแห่งใน แต่ละ ฤดูจะต้องดัดแปลงไปตามความต้องการของเห็ด คือ ช่วงระยะแรก ราววันที่ 1-2 เชื้อเห็ดต้องการอุณหภูมิประมาณ 35-38 ํซ. และ ในวันต่อ ๆ มาต้องการอุณหภูมต่ำลงเรื่อย ๆ จนราววันที่ 8-10 ซึ่ง เป็นวันที่เก็บผลผลิตนั้นต้องการอุณหภูมิราว 30 องศาเซล เซียส
  11. นำฟางแห้งมาคลุม ทับผ้าพลาสติกอีกครั้งหนึ่งจนมิดเพื่อป้องกันแสงแดด แล้วใช้ของหนัก ๆ ทับปลายผ้าให้ติดพื้นกันลมตี
การดูแลรักษาเห็ดฟาง
  1. การดูแลรักษากองเห็ด ให้ใช้ผ้าพลาสติกใสหรือสีก็ได้ ถ้า เป็นผ้าพลาสติกยิ่งเก่าก็ยิ่งดีคลุม แล้วใช้ฟางแห้งคลุมกันแดดกันลม ให้อีกชั้นหนึ่ง ควรระวังในช่วงวันที่ 1-3 หลังการกองเพาะเห็ด ถ้า ภายในกองร้อนเกินไปให้เปิดผ้าพลาสติกเพื่อระบายความร้อนที่ร้อน จัดจนเกินไป และให้อากาศถ่ายเทได้สะดวกขึ้น ดูแลให้ดีก็จะเก็บ ดอกเห็ดได้ประมาณในวันที่ 8-10 โดยไม่ต้องรดน้ำเลย ผลผลิต โดยเฉลี่ยจะได้ดอกเห็ดประมาณ 1-2 กิโลกรัมต่อกอง
  2. การตรวจดูความร้อนในกองเห็ด โดยปกติเราจะรักษา อุณหภูมิในกองเห็ดโดยเปิดตากลม 5-10 นาที แล้วปิดตามเดิมทุกวันเช้า เย็น ถ้าวันไหนแดดจัดอุณหภูมิสูงความร้อนในกองเห็ดมาก ก็ควรเปิดชายผ้าพลาสติกให้นานหน่อย เพื่อระบายความร้อนใน กองเห็ด วิธีตรวจสอบความชื้นทำได้ไดยดึงฟางออกจากกองเพาะ แล้วลองบิดดู ถ้าน้ำไหลออกมาเป็นสายแสดงว่าแฉะไป แต่ถ้ากองฟาง แห้งไปเวลาบิดจะไม่มีน้ำซึมออกมาเลย ถ้าพบว่ากองเห็ดแห้งเกินไปก็ควรเพิ่มความชื้นโดยใช้บัวรดน้ำเป็นฝอยเพียงเบา ๆ ให้ชื้น หลังจากทำการเพาะเห็ดประมาณ 1อาทิตย์ จะเริ่มมีตุ่มดอกเห็ดสีขาว เล็ก ๆ ในช่วงนี้ต้องงดการให้น้ำโดยตรงกับดอกเห็ด ถ้าดอกเห็ด ถูกน้ำในช่วงนี้ดอกเห็ดจะฝ่อและเน่าเสียหาย ให้รดน้ำที่ดินรอบกอง
การเก็บเห็ดฟาง
เมื่อกองฟางเพาะเห็ดไปแล้ว 5-7 วัน จะเริ่มเห็นตุ่มสีขาวเล็ก ๆ เกิดขึ้น ตุ่มสีขาวเหล่านี้จะเจริญเติบโตเป็นเห็ดต่อไปเกษตรกรจะเริ่ม เก็บเห็ด ได้เมื่อเพาะไปแล้วประมาณ 7-10 วัน แล้วแต่ความร้อน และการที่จะเก็บเห็ดได้เร็วหรือช้าขึ้นอยู่กับวิธีการเพาะและฤดูกาล คือ ฤดูร้อนและฤดูฝนจะเก็บเห็ดได้เร็วกว่าฤดูหนาว เพราะความร้อน ช่วยเร่งการเจรญเติบโตของเห็ดนอกจากนั้น ถ้าใส่อาหารเสริมด้วย แล้ว จะทำให้เกิดดอกเห็ดเร็วกว่าไม่ใส่อีกด้วย ดอกเห็ดที่ขึ้นเป็นกระจุก มีทั้งอ่อนและแก่ ถ้ามีดอกเล็ก ๆ มากกว่าดอกใหญ่ ควรรอเก็บเมื่อดอกเล็กโตหรือรอเก็บชุดหลัง เก็บดอกเห็ดขึ้นทั้งกระจุกโดยใช้มือจับ ทั้งกระจุกอย่างเบาๆ แล้วหมุนซ้ายและขวา
เล็กน้อย ดึงขึ้นมาพยายามอย่าให้เส้นใยกระทบกระเทือน
ศัตรูของเห็ดฟางและการป้องกันกำจัด
  1. แมลง เช่น มด ปลวก ไรเห็ด วิธีแก้ไขโดยใช้สารเคมีพวก เซฟวินโรยรอบๆ กอง ห่างประมาณ 1 ศอก อย่าโรยในกองทำประมาณ 1 สัปดาห์ ก่อนเริ่มกองเห็ดและควรจะโรยสารเคมีนี้ประมาณ 1 สัปดาห์ ก่อนที่จะเริ่มกองเห็ดแต่อย่าโรยภายในกองเพราะจะมีผล ต่อการ ออกดอก ทั้งยังมีสารพิษตกค้างในดอกเห็ดซึ่งเกิดอันตรายต่อผู้กิน
  2. เห็ดคู่แข่ง คือเห็ดที่เราไม่ได้เพาะแต่ขึ้นมาด้วย หรือเชื้อโรค อื่นๆ ที่เป็นศัตรูของเห็ดฟาง เช่น พวกราต่าง ๆ วิธีแก้คือการเก็บ ฟางไม่ควรให้ถูกฝน และถ้ามีราขึ้นให้หยิบฟางขยุ้มนั้นทิ้งให้ไกลกองเพาะ
ข้อแนะนำเพิ่มเติม
  1. ในการเพาะเห็ดฟางแบบกองเตื้ยนั้น หากมีการเพาะหลาย ๆ กองเรียงกันแล้ว จะสามารถใช้ประโยชน์จากเนื้อที่ระหว่างกอง แต่ละกองได้อีกด้วย เนื่องจากขณะรดน้ำก็จะมีธาตุอาหาร อาหารเสริม เส้นใยเห็ดที่ถูกน้ำชะไหลลงไปรวมอยู่บริเวณพื้นที่ระหว่างกอง จึง ทำให้บริเวณนั้นมีอาหารครบถ้วนต่อการเกิดดอกเห็ด และยิ่งถ้าให้ ความเอาใจใส่ดูแลอย่างดี หมั่นตรวจดูความชื้น อุณหภูมิ ให้เหมาะสม ต่อการเกิดดอกด้วยแล้ว พื้นที่ระหว่างกองนั้นก็จะให้ดอกเห็ดได้ อีกด้วย
  2. ฟางที่จะใช้สำหรับการเพาะนั้นจะใช้ตอซัง หรือจะใช้ฟางที่ ได้จากเครื่องนวดข้าวก็ได้
  3. หลังจากเก็บดอกเห็ดหมดแล้ว ควรเอากองเห็ดหลาย ๆ กอง มาสุมรวมกันเป็นกองใหม่ให้กว้างประมาณ 80 ซม. ทำแบบการเพาะ เห็ดกองสูง แล้วรดน้ำพอชุ่มคลุมฟางได้สัก 6-8 วัน ก็จะเกิดดอกเห็ด ได้อีกมากพอสมควรเก็บได้ประมาณ 10-15 วันจึงจะหมด วัสดุที่ใช้นี้ หลังจากเพาะเห็ดฟางแล้วสามารถนำไปเพาะเห็ดอย่างอื่นได้อีกด้วยโดยแทบไม่ต้องผสมอาหารเสริมอื่น ๆ ลงไปอีกเลย หรือจะใช้เป็น ปุ๋ยหมักสำหรับต้นไม้ก็ได้ มีคุณสมบัติใกล้เคียงกับปุ๋ยอินทรีย์ที่ กทม. ขายอยู่นั้นมาก
  4. เมื่อเก็บดอกเห็ดหมดแล้ว นำฟางจากกองเห็ดเก่านี้ไปหมักเป็นปุ๋ยหมักใช้กับพืชอื่น ๆ ต่อไป หรือนำฟางที่ได้จากการเพาะเห็ด ไปเพาะเห็ดนางรม เป๋าฮื้อ ก็ได้
  5. การขุดดินตากแดด 1 สัปดาห์ ย่อยให้ดินร่วนละเอียด จะทำให้ผลผลิตเห็ดได้มากกว่าเดิมอีก 10-20% เพราะเห็ดเกิดบนดิน รอบ ๆ ฟางได้
  6. การเปลี่ยนวิธีคลุมกองเห็ดตั้งแต่วันที่ 4 นับจากการเพาะ เป็นต้นไป ให้เป็นแบบหลังคาประทุนเรือจะทำให้ได้เห็ดเพิ่มขึ้น
คุณค่าทางอาหารจากดอกเห็ดฟาง
คุณค่าทางอาหารเห็ด ฟางสดเห็ดฟางแห้ง
โปรตีน3.40%49.04%
ไขมัน1.80%20.63%
คาร์โบไฮเดรท3.90%17.03%
เถ้า-13.30%
พลังงาน44 แคลอรี่4170 แคลอรี่
แคลเซียม8 มิลลิกรัม2.35% ของเถ้า
เหล็ก1.1 มิลลิกรัม0.99% ของเถ้า
ฟอสฟอรัส-30.14% ของเถ้า

1 ความคิดเห็น: