วันเสาร์ที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

การเพาะเห็ดฟางในตะกร้า

การเพาะเห็ดฟางในตะกร้า


ส่วนใหญ่นั้นการเพาะเห็ดในตะกร้าทั่วไป เป็นการเพาะเห็ดอีกรูปแบบหนึ่งที่ทำได้ง่ายและใช้พื้นที่น้อย ขั้นตอนไม่ยุ่งยากมาก สามารถทำได้ทุกครัวเรือน ทำไว้สำหรับบริโภค ดอกเห็ดสามารถทยอยออกได้เรื่อยๆ เป็นการลดรายจ่ายด้านอาหารในครัวเรือน และสามารถทำเป็นกิจกรรมเสริมเพื่อพักผ่อนหย่อนใจได้ด้วย โดยใช้วัสดุที่เหลือใช้จากไร่นาได้เกือบทั้งสิ้น เช่นเดียวกับการเพาะเห็ดฟางแบบอื่นๆ แต่ที่พิเศษไปกว่านั้นคือ สามารถนำก้อนเชื้อเห็ดที่เก็บดอกหมดแล้วมาใช้ได้ ทั้งเห็ดฟาง เห็ดขอนขาว เห็ดนางฟ้า และเห็ดนางรม และสามารถเพาะเห็ดแบบผสมผสานหลายชนิดพร้อมกันในตะกร้าเดียวได้ โดย การเพาะเห็ดฟางในตะกร้า สามารถดูรายละเอียดของการเพาะได้ที่นี่


   สำหรับวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้สำหรับการเพาะเห็ดก็หาได้ง่ายทั่วไป ประกอบด้วยตะกร้าพลาสติค ขนาด 12-14 นิ้ว มีตาห่างประมาณ 2×2 เชื้อเห็ดฟางที่พร้อมเพาะ หรือก้อนเชื้อเห็ดเก่า ปุ๋ยหมัก หรือผักตบชวาหั่นสด ท่อนไม้ สำหรับรองก้นตะกร้า โครงไม้ไผ่แบบสุ่ม และผ้าพลาสติคคลุมสุ่ม

   ส่วนวิธีการเพาะนั้น ก่อนอื่นให้เทก้อนเชื้อเห็ดเก่าออกจากถุงโดยขยี้ให้แตก อัดลงในตะกร้า หนาชั้นละ 3 นิ้ว ใส่อาหารเสริมจำพวกปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก หรือผักตบชวาสับ ชั้นละ 1-2 กำมือ โรยเชื้อเห็ดฟาง รดน้ำพอชุ่มแล้วทำชั้นที่ 2 และชั้นที่ 3 ต่อไปเหมือนกัน โดยชั้นที่ 3 ให้เหลือช่องว่างของตะกร้าจากปากไว้ 3 นิ้ว การเลือกเชื้อเห็ดที่ดี ควรเลือกที่มีเส้นใยเต็มถุง มีสีขาวนวล ไม่อ่อนหรือแก่เกินไป ไม่มีการปนเปื้อนของเชื้อรา และมีกลิ่นหอมของเห็ดฟาง ส่วนพื้นที่เพาะเห็ดต้องเป็นบริเวณที่ไม่มียาฆ่าแมลง น้ำไม่ท่วมขัง มีการระบายน้ำได้ดี

   วิธีการดูแลเห็ดหลังการเพาะแล้วนั้นไม่ยาก โดยหลังจากบรรจุวัสดุเพาะเห็ดเรียบร้อยแล้ว ให้นำตะกร้าเห็ดที่ได้ไปวางไว้ตามร่มไม้ชายคา ที่มีแสงแดดเล็กน้อยโดยเอาท่อนไม้วางรองด้านล่างกันปลวก โดยการเพาะ 1 สุ่ม ควรใช้ตะกร้า 4 ใบ วางด้านล่าง 3 ใบ ซ้อนด้านบน 1 ใบ ใช้สุ่มครอบ คลุมด้วยแผ่นพลาสติค เมื่อครบ 4 วัน ให้เปิดพลาสติคคลุมตอนเช้า หรือเย็นเพื่อให้เชื้อเห็ดรับอากาศ ประมาณ 2 ชั่วโมง แล้วปิดไว้ตามเดิม ทิ้งไว้กระทั่ง วันที่ 9-12 ดอกเห็ดฟางก็จะเกิด สามารถเก็บไปประกอบอาหารได้เลย ถ้าทำจำนวนมากหลายสุ่มจะเหลือจำหน่ายเป็นรายได้เสริมอย่างดีอีกด้วย โดยดอกเห็ดฟางในตะกร้าสามารถเก็บได้เรื่อยๆ จนหมดรุ่น ซึ่งสามารถเปิดพลาสติครดน้ำให้เปียกเอารุ่นที่ 2 ได้อีก พอดอกเห็ดหมดสามารถนำวัสดุที่เหลือนำไปเป็นปุ๋ยหมัก ใส่แปลงผัก หรือใส่แปลงนาได้อย่างดี หลังจากนั้น ล้างตะกร้าให้สะอาดตากแดด ประมาณ 1-2 แดด นำมาเพาะเห็ดรุ่นต่อไปได้ หากไม่ทำความสะอาด เชื่อโรคและเชื่อเห็ดราอื่นๆ อาจมีการเกิดแทนที่เชื้อเห็ดฟางได้

ศัตรูของเห็ดฟาง

   ส่วนใหญ่แล้วมักจะเป็นพวก แมลงต่างๆ เช่น มด ปลวก ไรเห็ด วิธีการแก้ไขส่วนใหญ่ที่ใช้คือใช้สารเคมีพวกเซฟวินโรยรอบๆ กอง ซึ่งไม่แนะนำเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจาก เซฟวิน หรือ ชื่อสามัญคือ : คาร์บาริล เป็นสารเคมีกำจัดแมลงจำพวก เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล มวนข้าว เพลี้ยจั๊กจั่นสีเขียว หนอนกินใบ เพลี้ยไฟ โดยอัตราแนะนำใช้คือ สารออกฤทธิ์ 0.75 = เซวิน 0.88 ลิตร/เฮกตาร์ การใช้ผสมร่วมกับสารอื่น ห้ามผสมสารสำเร็จรูปที่มีฤทธิ์เป็นด่าง ผสมเข้าได้ดีกับสารฆ่าแมลง และสารกำจัดโรคพืชอื่น ๆ โดยสารชนิดนี้มีรูปสารเป็นรูปผงละลายน้ำ มีคุณสมบัติออกฤทธิ์ถูกตัวตาย และกินตาย มีฤทธิ์ตกค้างระยะยาว อาจเป็นอันตรายต่อผู้บริโภคได้ การป้องกันทำได้โดยฉีดพ่นกองเพาะด้วยยาฉุน ไม่ควรฉีดพ่นด้วยสารเคมีเพราะอาจเป็นอันตรายต่อผู้บริโภคได้ เนื่องจากดอกเห็ดจะดูดซึมน้ำที่มีสารเคมีปะปนเข้าไปด้วย

   นอกจากแมลงที่เป็นศัตรูของเห็ดฟางแล้ว ศัตรูอีกอย่างคือเห็ดคู่แข่ง เป็นเห็ดที่เราไม่ได้เพาะ แต่ขึ้นมาด้วย หรือเชื้อโรคอื่นๆ ที่เป็นศัตรูของเห็ดฟาง เช่น พวกราต่างๆ วิธีแก้คือ การเก็บฟางไม่ควรให้ถูกฝน และถ้ามีราขึ้นให้หยิบฟางขยุ้มนั้นทิ้งให้ไกลกองเพาะ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น